NIKON COOLPIX P5000 กล้องคอมแพคไฮเอนด์


ตั้งแต่ ปี 2001 ที่นิคอนผลิตกล้องคอมแพคไฮเอนด์ในชื่อ COOLPIX 5000 ออกมาสู่ตลาด ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากช่างภาพสมัครเล่น ระดับจริงจัง และมืออาชีพ ในยุคนั้นอยู่ไม่น้อย เป็นเพราะว่าเป็นกล้องที่มีฟังก์ชันเพียบพร้อม และหวังผลของภาพได้ในระดับดีเยี่ยมเลยทีเดียว ซึ่งใน COOLPIX P5000 นี้ก็เช่นเดียวกัน แต่นิคอนได้ทำการตลาดใหม่ ด้วยการลดขนาดของบอดี้ ภายนอกลงจนแทบ ไม่ต่างจากกล้องคอมคอมแพคทั่วไป และลดฟังก์ชันของการพลิกหมุนจอ LCD ได้ออกไป ส่วนฟังก์ชันสำหรับมืออาชีพ ทั้งหมดก็ยังคงเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรงของบอดี้โลหะล้วนแบบแมกนีเซียมอัลลอยด์ กริปมือจับถ่ายภาพขนาดใหญ่เพื่อการจับถือที่กระชับมือ โหมดถ่ายภาพแบบมืออาชีพ การใช้แฟลชเสริมตระกูล SB ของนิคอนได้บนฮอทชู และเลนส์เสริมเพื่อเพิ่มมุมมองให้แปลกตามากยิ่งขึ้น โดยฟังก์ชันทั้งหมดนี้บรรลุเอาไว้อยู่ในบอดี้ขนาดเล็กกะทัดรัดที่มีน้ำหนัก เบาเพียง 200 กรัมเท่านั้น และที่สำคัญคือมีราคาค่อนข้าง “ ถูก’’ อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเทียบกับกล้องคู่แข่งในระดับเดียวกัน บอดี้ ภายนอกของ P5000 ทั้งหมดออกแบบให้เป็น 2 ส่วน คือฝาครอบด้านหน้าทั้งหมด เป็นโลหะแมกนีเซียมอัลลอยด์ ที่มีความทนทานมากๆ ไม่ต่างจากที่ใช้ในกล้อง DSLR ของตน และยังทำเป็นลายพ่นทราย ที่มีความสวยงามอีกด้วย โดยอออกแบบให้ทางด้านขวาของบอดี้ ทำเป็นสันนูนขนาดใหญ่เป็นชิ้นเดียวกัน เสริมด้วยยางหุ้มกริปทีมีความหนืดเกาะนิ้วดีเหมือนที่ใช้ในกล้อง DSLR เช่นเดียวกัน ทำให้การจับถือมีความกระชับได้อย่างดีเยี่ยม ส่วนด้าน ซ้ายของบอดี้วางชุดเลนส์ออฟติคอลซูมขนาด 3.5 เท่า พร้อมกับทำเป็นวงแหวนสีเงินล้อมรอบอยู่อย่างสวยงาม โดยเลนส์ที่ใช้เป็น เลนส์คุณภาพสูง Nikkor 3.5x Optical Z00m VR 7.5-26.3 มม. F/2.7-5.3 เทียบเท่าเลนส์ 36-126 mm. เมื่อเปิดสวิตซ์ กระบอกเลนส์จะยื่นออกมาเป็นสองท่อน และมีความยาวเพียง 2.5 ซม. และมีความยาวเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เมื่อซูมที่ช่วงเทเลโฟโต้ โดยบริเวณรอบๆ ฐานเลนส์จะทำเป็นวงแหวนสีเงินที่สามารถหมุนออกได้ เพื่อนำแดปเตอร์ UR-E20 มาสวมทางด้านหน้าสำหรับติดตั้งเลนส์ WC-E67 ไวด์ขนาด 0.67x ซึ่งจะได้มุมมองของภาพที่กว้างมากถึง 24 mm. เลยทีเดียว หากเป็นเทเลคอนเวอร์เตอร์ TC-E3ED จะได้ช่วงเทเลที่มากถึง 378 mm. เลยทีเดียว โดยอแดปเตอร์ที่ใช้นี้สามารถที่จะนำฟิวเตอร์ที่มีขนาด 37 mm. ทั่วไปมาใช้งานได้อีกด้วย ส่วนระบบป้องกันภาพสั่นไหวนั้น ได้ยกเอาชิฟระบบ VR ( Vibration Reduction) ที่ติดตั้งอยู่ในเลนส์ VR สำหรับกล้อง DSLR มาเลยทีเดียว โดยที่สามารถใช้ชัตเตอร์ต่ำกว่ามาตรฐานได้ถึง 3 สตอป นอกจากนี้ยังทำให้การแสดงภาพบนจอ LCD มีความนุ่มนวลขึ้นอีกด้วย ติดกับส่วนของเลนส์เป็น LED ขนาดเล็กสำหรับช่วยกาโฟกัสในที่มืด และใช้กระพริบเตือนในโหมดหน่วงเวลาถ่ายตนเอง ส่วนช่องด้านบนเป็นช่องมองภาพแบบออฟติคอล ที่จะปรับซูมขนาดตามเลนส์ที่ใช้อัติโนมัติ สำหรับผูที่ต้องการประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ ส่วนแฟลชขนาดเล็ก ทางมุมซ้ายของตัวกล้องเป็นแบบ Buill-in มีระยะการทำงานครอบคลุมตั้งแต่ 0.3-8 เมตรเลยทีเดียว (ในช่วงมุมกว้าง ISO Auto) และ 0.3-4 เมตร (ที่ช่วงเทเลโฟโต้ ) โดยคุณสามารถนำแฟลชภายนอกมาใช้งานร่วมด้วยได้ทันที ที่ฮอทชูทางด้านบนตัวกล้อง โดยแฟลชเฉพาะกิจที่ออกมารองรับกันจะเป็นรุ่น SB-400 ที่ทำงานร่วมกันแบบ i-TTL อัติโนมัติ โดยแฟลชรุ่น SB-400 จะสามารถพลิกหัวแฟลชเงยขึ้นด้านบนได้ เพื่อใช้ในการเบาซ์แสงให้แสงนุ่มนวลขึ้น โดยแฟลชเฉพาะกิจ SB-400 ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ขนาด AA จำนวน 2 ก้อนเท่านั้น ( GN 21 ที่ iso 100 ) และมีนำหนักเบาเพียง 127 กรัม จึงไม่ทำให้เป็นภาระในการพกพาหรือหากคุณมีแฟลชของนิคอยู่แล้ว ก็สามารถนำมาใช้งานได้ทันที ( SB-800,SB-600) ด้านบนตัวกล้องบริเวณ กริปจับ นิคอนทำการแบ่งพื้นที่ ตรงนี้ด้วยฝาครอบสีเงินวาว โดยวางปุ่มกดชัตเตอร์ไว้ทางด้านหน้า พร้อมวงแหวนซูมภาพแบบคานผลักล้อมรอบปุ่มชัตเตอร์ ถัดมาเป็นสวิตซ์เปิดปิดระบบการทำงานของกลอ้งขนาดเล็ก ส่วนวงแหวนควบคุมหลักสีเงินอยู่ทางด้านท้ายตรงบริเวณที่นิ้วโป้งมือขวา สามารถปรับหมุนได้สะดวก เพราะเมื่ออยู่ในโหมดบันทึกภาพ P,S,A,M แล้ว จะใช้เป็นวงแหวนควบคุมทั้งขนาดรูรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ ถัดมาด้านซ้ายเป็นวงแหวนเลือกระบบบันทึกภาพที่มีขนาดใหญ่ สำหรับปรับเลือกระบบบันทึกภาพทั้งหมดเอาไว้บนนี้ ตั้งแต่ระบบบันทึกภาพแบบอัติโนมัติ ,ระบบป้องกันภาพสั่นไหว ซึ่งในโหมดนี้กล้องจะทำการชิฟท์ความเร็วชัตเตอร์และความไวแสง เพื่อให้ภาพมีความคมชัดมากที่สุด, โหมด Hi ISO สำหรับการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยแบบไม่ใช้แฟลช และตัวกลอ้งจะทำการชิฟท์ความไวแสงเป็นหลัก โดยเพิ่มความไวแสงได้สูงสุด ถึง ISO 3200 (ที่ 5 ล้านพิกเซล) โหมดรูปภาพ SCENE ที่มีรูปแบบต่างๆ มาให้มากถึง 16 แบบ, โหมดถ่ายภาพเคลื่อนไหวแบบวีดีโอคลิป , SET UP MENU สำหรับปรับตั้งฟังก์ชันต่างๆ อย่างละเอียด พร้อม โหมดถ่ายภาพมืออาชีพ โปรแกรม P, ออโต้ชัตเตอร์ A, ออโต้รูรับแสง S, แมนนวล M ด้านหลังตัวกล้อง วางจอ LCD ขนาดใหญ่เอาไว้ตรงกลางบอดี้ แล้ววางปุ่มปรับตั้งฟังก์ชัน และเมนูต่างๆเอาไว้ทางด้านซ้าย เหมือนกับกล้อง DSLR ทำให้การปรับตั้งฟังก์ชันต่างๆกดใช้งานง่ายและเป็นสัดส่วนชัดเจน เริ่มจากปุ่ม Fn หรือฟังก์ชัน ซึ่งจะเป็นปุ่มที่ใช้ปรับตั้งฟังก์ชันที่เลือกเอาไว้ เช่น ตั้งค่าความไวแสง ,ระดับคุณภาพ,ขนาดภาพ,ไวท์บาลานซ์ หรือโหมดป้องกันภาพสั่นไหว โดยผู้ใช้สามารถเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้อการใช้งานบ่อยๆ มาไว้ที่ปุ่ม Fn นี้ได้ทันที
ถัดมาเป็นปุ่ม Display ใช้กดเพื่อปรับเปลี่ยนการแสดงผลภาพแบบต่างๆ เช่น แสดงข้อมูลการถ่ายภาพทั้งหมด , แสดงเส้นตารางกริดสำหรับถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ , ไม่แสดงข้อมูลใดๆ และปิดจอมอนิเตอร์ไปเลยเพื่อประหยัดพลังงาน ถัดมาเป็นปุ่ม Playback ใช้สำหรับเล่นดูภาพ ที่ถ่ายไปแล้ว ถัดมาเป็นปุ่มเมนู ที่ใช้สำหรับปรับตั้งฟังก์ชันทางการถ่ายภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโหมดสี, ระบบวัดแสง, ระบบเลื่อนภาพ, ถ่ายภาพคร่อม, โหมดโฟกัส,ชดเชยแสงแฟลช,ตั้งระบบแฟลช,ฟังก์ชันลด Noise และอื่นๆอีกมากมาย ปุ่มล่างสุดเป็นปุ่มลบภาพแบบทีละภาพอย่างรวดเร็ว ส่วนจอมอนิเตอร์ LCD ขนาดใหญ่ที่ใช้ เป็นแบบ TFT ขนาด 2.5 นิ้ว ที่ให้ความละเอียดขนาด 230,000 พิกเซล ซึ่งมีความใสสว่าง แสดงภาพได้คมชัดสวยงามมากยิ่งขึ้น ทั้งก่อนและหลังการถ่ายภาพที่กว้างมากขึ้นีอีกด้วย ถัดมาด้านขวาของจอ LCD นิคอนทำร่องเว้าพร้อมเสริมยางบริเวณที่นิ้วโป้งวางอยู่ เพื่อให้การจับถือตัวกล้องมีความกระชับมากยิ่งขึ้นนั่นเอง ส่วนปุ่มที่อยู่ด้านล่างเป็นปุ่มควบคุม แบบ 4 ทิศทาง ซึ่งแบ่งการใช้งานในแต่ละทิศทาง ดังนี้ ปุ่มบนเป็นปุ่มเลือกระบบแฟลช ตั้งแต่อัตโนมัติ,แก้ตาแดง ,ปิดแฟลช,เปิดแฟลช,สัมพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์ต่ำ และสัมพันธ์กับม่านชัตเตอร์ชุดที่สอง ปุ่มขวาเป็นปุ่มชดเชยแสง +/- 2 แบ่งขั้นละ 1/3 สตอป ซึ่งหากอยู่ในระบบบันทึกภาพแบบแมนนวล M การกดปุ่มชดเชยแสงจะเป็นการเปลี่ยนการควบคุม ระหว่างความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงปุ่มล่างเป็นปุ่มเลือก ระยะโฟกัส ตั้งแต่อัติโนมัติ ,โฟกัสภาพทิวทัศน์,โฟกัสภาพวิวระยะใกล้ และระบบมาโคร ซึ่งในระบบมาโครนี้สามารถทำระยะโฟกัสใกล้สุดได้ที่ 4ซม. ที่ช่วงมุมกว้าง สำหรับการถ่ายภาพวัตถุขนาดเล็ก ส่วนปุ่มซ้ายเป็นปุ่มเลือกระบบหน่วงเวลา แบบ 10 หรือ 3 วินาที ด้านขวาของตัวกล้อง นิคอนเป็นหูคล้องสายคล้องคอสีเงินวาว วัสดุที่ใช้เป็นแบบพลาสติก ซึ่งหากนิคอนใช้วัสดุเป็นแบบโลหะแล้วละก็ จะทำให้ดูดีขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว ถัดลงไปด้านล่างของสันกริป มีช่องอินเตอร์เฟส แบบ USB 2.0 สำหรับโหลดภาพเข้าสู่คอมพิวเตอร์ และใช้เป็นช่อง AV OUT ไปด้วยในตัว ด้านซ้ายของตัวกล้องมีช่องลำโพงขนาดใหญ่ ใช้สำหรับเปิดฟังเสียงที่บันทึกในโหมด Playback ด้านล่างของกล้องเป็นฝาปิดช่องบรรจุแบตเตอรี่แบบลิเธี่ยมไอออน EN-EL5 ขนาด 3.7 โวลต์ 1100 มิลลิแอมป์ ที่ให้พลังงานได้ยาวนานถึง 250 ภาพ ซึ่งจากการทดสอบการใช้งานจริงพบว่าสามารถถ่ายภาพได้ต่อเนื่องถึงกว่า 300 ภาพ โดยใช้แฟลชประมาณ 20% และเปิดจอมอนิเตอร์ดูภาพทุกครั้งซึ่งถือว่าให้พลังงานได้อย่างดีเยี่ยม กับแบตเตอรี่ที่มีขนาดเล็กลงเช่นนี้ ส่วนการ์ดจัดเก็บภาพที่ใช้เป็นแบบ SD ซึ่งสามารถรองรับการ์ดแบบความจุสูงแบบ SDHC ได้อีกด้วย
ฟังก์ชันอื่นๆที่น่าสนใจได้แก่ระบบ D-Lighting ซึ่งผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งภาพที่มืด ได้รับแสงไม่พอ หรือต้องการให้ส่วนที่อยู่ในเงามืดมีความสว่างมากขึ้น ได้ง่ายๆจากตัวกลอ้ง ไม่ต้องปรับในคอมพิวเตอร์ ส่วนฟังก์ชันจับโฟกัสที่ใบหน้านั้นนิคอนออกแบบมาให้ใช้ร่วมกับ ระบบ Face-priority AF ซึ่งอยู่ในโหมดถ่ายรูป สำหรับคนที่ไม่ต้องการความยุ่งยากในการปรับตั้ง เมมโมรี่ภายในตัวกลอ้ง มีให้ 21 MB สำหรับถ่ายภาพฉุกเฉิน หรือกรณีลืมนำการ์ดมา
เรื่อง Noise ถือได้ว่าเป็นกล้องที่ทำงานได้ดีที่ ISO ต่ำกว่า 200 ส่วนที่สูงกว่านี้ ที่ ISO400 ยังคงหวังผลได้ ส่วนที่ ISO800 ขึ้นไป ควรใช้ในกรณีจำเป็น มากกว่าสถานการณ์ทั่วไป เรื่องอื่นๆ เช่น ระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบ VR นั้น จากการทดสอบถ่ายภาพที่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่ามาตรฐานกว่า 3 สตอป ที่ 1/15 วินาที กับช่วงซูม 126 mm. สามารถหวังผลความชัดได้ถึง 30% เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการถือกล้องให้นิ่งของผู้ถ่ายด้วย COOLPIX P5000 อาจจะดูเล็กกะทัดรัด จนไม่น่าเชื่อว่ากล้องกึ่งมืออาชีพ นั่นเป็นเพราะเวลาเปลี่ยนไป และเทคโนโลยี ล้ำหน้า เป็นผลให้การออกแบบชิ้นส่วนอันทันสมัยมีขนาดเล็กลงนั่นเองจึงทำให้การออก แบบ COOLPIX P5000 ไม่ได้เน้นรูปทรงใหญ่โต แต่เน้นฟังก์ชันการทำงานที่พร้อมตอบสนองการใช้งาน ที่สำคัญราคาถูก หากนำฟังก์ชั่นที่มีทั้งหมดมาพิจารณา กล้องตัวนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่อยากมีกล้องเป็นอุปกรณ์คู่ใจประจำตัวเพื่อใช้งานจริงๆ ราคาปัจจุบัน อยู่ที่ 11,900 บาท(บวก-ลบ)ครับ..

ความคิดเห็น